หากไม่รักตัวเอง… แล้วจะรักคนอื่นได้อย่างไร – วาเลนไทน์นี้ก่อนรักใครอย่าลืมรักตัวเอง

Self-compassion

วันนี้ Behap อยากบอกทุกคนว่าการอยู่คนเดียวในวันวาเลนไทน์ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะคนที่คุณควรรักมากที่สุดไม่ใช่ใครเลยนอกจากตัวคุณเอง ดังนั้น Behap จึงอยากชวนทุกคนมารู้จัก “ความรักตัวเอง”

ทั้งนี้อยากให้ผู้อ่านเข้าใจว่า “ความรักตัวเอง” ไม่ใช่การเห็นแก่ตัว การตามใจตนเอง และไม่ใช่ข้ออ้างที่เราเอาไว้ใช้เพื่อทำผิดพลาดซ้ำๆ เพราะการตามใจตนเองนั้นนำมาเพียงแค่ความสุขชั่วขณะ

ความรักตัวเองคืออะไร?

“ความรักตัวเอง” ในเชิงจิตวิทยาคือการมีความรักเมตตาต่อตัวเอง ทำให้เราตระหนักรู้และเคารพตัวเองโดยเฉพาะในช่วงที่เรามีความทุกข์ ความผิดหวัง โดยที่ตัวเราเองสามารถเข้าใจได้ว่าทุกปัญหาคือความปกติของชีวิต การมีเมตตาต่อตัวเองจึงเป็นวิธีการรับมือกับความทุกข์ที่เกิดขึ้น รวมถึงปัญหาที่เกิดจากปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้

ความเมตตาต่อตัวเองจะต้องมี 3 องค์ประกอบได้แก่ ความใจดีต่อตัวเอง ความเป็นปุถุชนคนธรรมดา และ การมีสติ

Self-compassion

รักตัวเองแบบไหนถึงเรียกว่า มีเมตตาต่อตัวเอง (Self-compassion)

1. ความใจดีต่อตัวเอง (Self-kindness)

คือการไม่ตัดสิน (self-critism) หรือโทษตัวเองเมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้น กล่าsวง่ายๆ คือเมื่อมีความผิดพลาดจะต้องไม่กล่าวโทษตัวเองว่า “ฉันทำไม่ดี” “ทำไมถึงทำพลาดได้ขนาดนี้” “คนอื่นต้องมาเสียใจเพราะเรา” หลายคนอาจคิดว่านี่เป็นการไม่รับผิดชอบหรือเปล่าที่เราปัดความผิดแบบนี้ จริงๆ แล้วจะมีความต่างกันเล็กน้อย ในความใจดีต่อตัวเอง ไม่ใช่ว่าเราจะมองข้ามความผิด แต่เรามองสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไม่ถือโทษและให้กำลังใจตัวเองแทน เช่น “ครั้งนี้พลาดตรงนี้ไม่เป็นไรนะ คราวหน้าต้องระวังให้มากกว่านี้ และจะดีขึ้นเรื่อยๆ เราทำได้” เป็นเหมือนการปลอบตัวเองแม้ว่าเราจะผิดพลาด เพื่อให้เราเดินก้าวไปข้างหน้าได้ดียิ่งขึ้น ไม่จมปลักอยู่กับความรู้สึกด้านลบของตัวเอง

2. ความเป็นปุถุชนคนธรรมดา

คือการรับรู้ว่ามนุษย์ทุกคนมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา ไม่มีใครสมบูรณ์โดยไม่เคยผิดพลาด และความผิดพลาดล้วนแล้วเกิดได้จากหลายปัจจัยทั้งจากตัวเอง ปัจจัยรอบข้าง ให้เราระลึกไว้เสมอว่า “ไม่มีใครทำผิดเสมอ หรือถูกตลอด” อย่ามองว่าเป็นเพราะตัวเองโชคร้าย ให้มองความผิดพลาดและบอกตัวเองว่า “คราวหน้าจะดียิ่งขึ้น เราผิดกันได้และเรียนรู้ที่จะพัฒนาได้เช่นกัน”

3.การมีสติ

คือการรับรู้อารมณ์ของตัวเอง สามารถที่จะรับรู้ได้ว่าในเวลานั้นๆ ตัวเองรู้สึกอย่างไร ช่วยให้เราเข้าใจความรู้สึกและอารมณ์ของตัวเองได้มากขึ้น ทำให้สามารถรับมือกับอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ดีมากยิ่งขึ้น

การมีเมตตาต่อตัวเองดีอย่างไร

การมีทั้ง 3 สิ่งข้างต้นจะเป็นประโยชน์สูงมากในการพัฒนาทางอารมณ์และสุขภาวะในระดับบุคคล โดยมีงานวิจัยระบุว่าการมีเมตตาต่อตัวเองมีผลมากมายในเชิงบวก เช่น

1.ลดภาวะความเครียด: เมื่อเรามีเมตตาต่อตัวเอง เราจะสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่ยากลำบากได้โดยไม่เกิดภาวะความเครียดมากเกินไป

2.พัฒนาสุขภาวะทางอารมณ์: คนที่มีเมตตาต่อตัวเองจะพบว่ามีความสมดุลในชีวิตที่ดี มีความสุข และมีสภาวะที่ดีในภาพรวม

3.เพิ่มความยืดหยุ่นในการใช้ชีวิต: คนที่มีเมตตาต่อตัวเองจะพบว่ามีความยืดหยุ่นในการรับมือกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก หาทางออกในสถานการณ์ได้หลากหลาย และมีความสามารถในการดึงตัวเองกลับมาหลังจากผ่านสถานการณ์ดังกล่าว

4.ความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับคนรอบข้าง: คนที่มีเมตตาต่อตัวเองมีแนวโน้มที่จะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างมากขึ้น เพราะจะตัดสินผู้อื่นรอบข้างน้อยลง มองภาพรวมและทำความเข้าใจได้มากขึ้น

5.เพิ่มแรงขับเคลื่อนในชีวิต: คนที่มีเมตตาต่อตัวเองจะมีพลังในการขับเคลื่อนชีวิตที่มากขึ้นจากความต้องการในการสร้างสิ่งดีๆ ในชีวิต และการไม่ตัดสินตัวเอง

จะเห็นได้ว่าการมีเมตตาตัวเองสามารถช่วยพัฒนาสุขภาวะในระดับบุคคลได้หลากหลายด้าน แต่การจะมีความเมตตาต่อตัวเองอาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับใครหลายๆ คน Behap จึงมีวิธีการสร้างและฝึกฝนให้ตัวเองได้มีความเมตตาต่อตัวเองมาฝากทุกคนง่ายๆ ด้วยกัน 7 ข้อคือ

7 วิธีมีเมตตาต่อตัวเอง

1.ฝึกสติ: ใส่ใจกับความคิดและความรู้สึกโดยไม่ตัดสิน สิ่งนี้จะช่วยลดการพูดถึงตนเองในแง่ลบและเพิ่มความตระหนักรู้ในตนเอง

2.พูดกับตวเองเหมือนคุยกับเพื่อน: พูดให้กำลังใจ เตือนตัวเองว่าความผิดพลาดและความล้มเหลวเป็นเรื่องปกติของชีวิต และปฏิบัติตัวด้วยความเมตตาและความเข้าใจ

3.ท้าทายตัวเองในเชิงลบ: เมื่อคุณสังเกตเห็นว่าตัวเองมีความคิดเชิงลบเกี่ยวกับตัวเอง ให้ลองปรับมาเป็นความคิดในแง่บวกมากยิ่งขึ้น เช่น แทนที่จะพูดว่า “ทำไมฉันห่วยแตกจัง” ให้ลองพูดว่า “ใครๆ ก็เคยทำผิดพลาดกัน ครั้งหน้าฉันจะทำให้ดียิ่งขึ้น”

4.การใส่ใจดูแลตนเอง: ดูแลสุขภาวะทางร่างกาย อารมณ์ และจิตใจด้วยการทำกิจกรรมที่ทำให้คุณมีความสุข ผ่อนคลาย และสงบจิตใจ

5.ฝึกความกตัญญู: โฟกัสที่ด้านบวกของชีวิตของคุณและสิ่งที่คุณรู้สึกขอบคุณ สิ่งนี้สามารถช่วยเปลี่ยนความสนใจของคุณจากความคิดและความรู้สึกเชิงลบไปสู่การมองโลกในแง่บวกมากขึ้น

6.การสนับสนุนของคนรอบข้าง: อยู่ท่ามกลางเพื่อนและสมาชิกในครอบครัวที่คอยสนับสนุนและให้กำลังใจคุณ แทนที่จะทำให้คุณผิดหวัง

7.ใจดีกับตัวเองให้เป็น: ปฏิบัติต่อตนเองด้วยความเมตตาและความเห็นอกเห็นใจแบบเดียวกับที่คุณมีต่อคนที่คุณรัก ให้อภัยตัวเองเมื่อทำผิดพลาดและอ่อนโยนกับตัวเองเมื่อสิ่งต่างๆ ไม่เป็นไปตามแผน โปรดจำไว้ว่า ความเห็นอกเห็นใจตนเองไม่เหมือนกับความสมเพชตนเองหรือการตามใจตนเอง มันเกี่ยวข้องกับการรับผิดชอบต่อการกระทำของคุณและพยายามเปลี่ยนแปลงรูปแบบเชิงลบ แทนที่จะรู้สึกเสียใจกับตัวเอง

การฝึกมีเมตตาต่อตัวเองสามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลาเพียงแค่เรารู้สึกตัวว่าเราต้องทำและทำ อาจมีเผลอลืมไปได้บ้างแต่การระลึกถึงเสมอจะช่วยให้เรามีเมตตาที่มากขึ้นเรื่อยๆ และเราจะสามารถรักตัวเองได้อย่างเต็มที่